วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความรู้ที่ได้จากTCU

ความหลากหลายทางชีวภาพ

            ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในโลกเรานี้  คือ  ความหลากหลายรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ ทั้งของสิ่งมีชีวิตเองและของสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง  จากอดีตจนถึงปัจจุบัน  และคงเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  สิ่งมีชีวิตที่ปรากฎอยู่ในโลกปัจจุบันประมาณ 3-5 ล้านชนิด และคาดว่าอาจะมีมากมายถึง  30  ล้านชนิด  ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางนิเวศวิทยา  และ แหล่งที่อยู่อาศัย  อันเกิดจากผลกระทบย้อนกลับไปกลับมาระหว่าง สิ่งมีชีวิตกับสภาวะแวดล้อม  จึงอาจกล่าวได้ว่า การเกิดความหลากหลายของสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชิวิตต่าง ๆ    เป็นเงาตามตัวไปด้วย อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติย่อมมีความสมดุลเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น   การเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตถึงถูกกำจัดด้วยกระบวนการธรรมชาติบางอย่าง      โดยเฉพาะการสูญพันธุ์ซึ่งเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง ดังคำกล่าวของพระพุทธองค์ที่ว่า มีเกิดก็มีดับ

ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด  ไม่ว่าจะเป็นพวกจุลินทรีย์ พืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์  สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนแต่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่แตกต่างแปรผันออกไปมากมาย  เพื่อให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น  อันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อน และหลากหลายในบริเวณต่าง ๆ ของโลก  ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  ดังสรุปไว้ในแผนภาพที่ 1  ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพราะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับปัจจัยทั้งสี่ที่ช่วยค้ำจุนให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข
แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีพฤติกรรม และกิจกรรมในลักษณะคล้ายกับ ทุบหม้อข้าวตัวเอง  โดยรู้เท่าไม่    ถึงการณ์และขาดความยั้งคิด เพราะมนุษย์ยุคปัจจุบันได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งต่าง ๆ  ทั่วโลกอย่างน่าอนาถใจ  ดังนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแง่มุมต่าง ๆ ให้ถ่องแท้    เพื่อจะได้หาแนวทางการจัดการกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในโลกนี้  ให้เหมาะสม   และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ  การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตจะทำได้ดีที่สุดหากเราเข้าใจในความหลากหลายของสรรพสิ่งทั้งหมด ดังที่ E.O. Willson (1988) กล่าวไว้ว่า “The laws of biology are written in the language of diversity”
            ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต  นักชีววิทยาคาดการณ์ว่าโลกเรานี้มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายหลายล้านชนิด  แต่ที่ได้ศึกษากันตามหลักวิทยาศาสตร์มีอยู่เพียงประมาณ 2 ล้านชนิดเท่านั้น  และในจำนวนสิ่งมีชีวิตที่รู้จักกันแล้วนี้มีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น (ไม่ถึง  0.01%)  ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา และตรวจสอบถึงศักยภาพและคุณค่าที่อาจเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมต่าง ๆ  ของมนุษย์  ทั้งโดยทางตรงทางอ้อม  ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ และด้วยในความรู้ของเราเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา เราอาจกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่รอคอยการศึกษาจากนักวิชาการ  โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในบริเวณป่าชื้นเขตร้อน  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางประมาณ  7% ของผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยทั่วโลก  ป่าชื้นเขตร้อนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ และ เอื้ออำนวยให้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากมาย เสมือนเป็นศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สมควรได้รับความสนใจดูแลรักษาสภาพไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศและของโลกด้วย  นักวิชาการคาดหมายว่ามีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านชนิดในป่าชื้นเขตร้อนในจำนวนสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่คาดว่ามีประมาณ 5 ล้านชนิดหรือมากกว่านั้น แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตเพียงประมาณ 5 แสนชนิดเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ และคาดว่าในป่าชื้นเขตร้อนยังมีสิ่งมีชีวิตอีกจำนวนมากมายที่มีความหลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์  คงมีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยในป่าชื้นเขตร้อนที่ถูกทำลายสูญหาไปจากโลกนี้อย่างไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาได้อีกโดยน้ำมือของมนุษย์จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม  ทั้ง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นอาจมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล หากว่าเราได้รู้จักมันและศึกษาหาความรู้จากมันเสียก่อน
            เราต้องยอมรับความจริงว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตโดยกลไกตามธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่เร็วก็ช้า  มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดที่ปรากฎอยู่ในโลกปัจจุบันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดประมาณ 1% ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายร้อยล้านชนิดที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ในอดีตกาล  โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา  มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีสิ่งมีชีวิตมากมายและหลากหลายที่สุด  จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของความหลากหลายทางชีวภาพทีเดียว เราอาจประมาณการณ์ได้ว่าอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวในอดีตกาล  เกิดขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 สปีชีส์ แต่ในปัจจุบันพบว่า  การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเป็นหลายร้อยหลายพันเท่าของอัตราสูญพันธุ์ในอดีตกาล  จะสังเกตว่า การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในพวกที่อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อน  โดยเฉพาะในประเทศที่ด้วยพัฒนา และที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยเราด้วย การสูญเสียทรัพยากรสิ่งมีชีวิตอย่างากมายในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่สิบปีมานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์อย่างน่าอนาถใจยิ่ง  นักวิชาการประเมินอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตประมาณวันละ 1 ชนิด ในช่วงปี ค.. 1970 และเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 1 ชนิดในช่วงปี ค.. 1980 หากอัตราสูญพันธุ์เป็นไปในลักษณะเช่นนั้ก็เป็นที่เชื่อกันว่าภายใจสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีการสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่า  20-50%  ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกกลมใบนี้  และในจำนวนที่สูญพันธุ์ไปนี้จะเป็นการสูญเสียจากป่าชื้นเขตร้อนมากที่สุด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการทำลายป่าไม้ในเขตร้นอย่างมากมายในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
            ในระบบนิเวศที่สมดุล  การสูญเสียสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจมีผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่  มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี นักชีววิทยาได้ประมาณการณ์ว่า การสูญพันธุ์ของพืชชนิดหนึ่งสามารถส่งผลกระทบให้มีการสูญเสียแมลงและสัตว์อื่นในระบบนิเวศเดียวกันได้มากมากหลายชนิด อาจมากถึง 30 ชนิดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจไม่ปรากฎชัดเจนในทันท่วงทีในระบบนิเวศที่ซับซ้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น